วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รู้จักตน รู้จักพอ อิสระแห่งชีวิตในยุคทุนนิยม
พีรพัฒน์ ถวิลรัตน์[1]

“เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” (มัทธิว 6: 21)

     นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ระบบทุนนิยมได้กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจหลักของหลายๆประเทศ และดูเหมือนว่า ทุกประเทศ ทุกค่ายการเมืองต่างปรับตัวให้ระบบเศรษฐกิจในประเทศของตน มีลักษณะที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับระบบทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อีกทั้งระบบนี้มีความสอดคล้องและตอบสนองต่อธรรมชาติของมนุษย์ ที่ยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง และปรารถนาเสรีภาพในการดำรงชีวิตได้ดีที่สุด
       อย่างไรก็ตาม แม้ระบบทุนนิยมจะเอื้อประโยชน์ให้ปัจเจกบุคคล มีอิสระในการดำเนินชีวิต ในการเลือกอาชีพ และการสะสมทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการทำงาน ทว่า ระบบเดียวกันนี้ที่เอื้อประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ก็ทำให้มนุษย์ได้รับความทุกข์ จากการติดกับดักของความอยากมีอยากได้ อยากเป็นเจ้าของทรัพย์สินเช่นกัน  จากข้อมูลของ Global Issues ณ วันที่ 2 มกราคม ค.ศ.2011 พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลก ประมาณ 3 พันกว่าล้านคนมีรายได้น้อยกว่า 75 บาทต่อวัน ประชากรเกือบหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถอ่านหนังสือหรือแม้แต่เซ็นชื่อของตนเอง และหากนำงบประมาณเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของการจัดซื้ออาวุธของทุกประเทศทั่วโลกมารวมกัน จะมีจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้บรรดาเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนได้ นอกจากนี้ ประชากรที่ยากจนที่สุดยังไม่อาจเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษาและบริการอื่นๆ ที่ประชาชนพึงได้รับ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้นทุกปี  ขณะที่ประชาชนบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ทั้งที่เป็นผู้ค้าและผู้ถูกค้า จากข้อมูลของสารานุกรมอิสระ Wikipedia การค้ามนุษย์เป็นอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยเฟื่องฟู มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก รายได้ต่อปีของการค้ามนุษย์ประมาณห้าพันล้านถึงเก้าพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีประชากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ประมาณ 2.5 ล้านคนจาก 127 ประเทศทั่วโลก ในหลายประเทศ พ่อแม่หลายคนยอมขายลูกเพื่อชำระหนี้ หรือเพื่อเป็นรายได้สำหรับครอบครัวของตน ด้วยหวังว่า จำนวนเงินที่ได้จากการขายเด็กจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น  นอกจากปัญหาต่างๆที่กล่าวมานี้ ยังมีประเด็นทางสังคมอื่นๆ อีกหลายประเด็น อันเป็นผลที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน อาทิเช่น ปัญหาเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการว่างงาน ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากความเครียด ฯลฯ
หากเราสังเกตอย่างใส่ใจต่อสังคมปัจจุบัน เราจะพบว่า การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 มีความเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย ที่เกื้อหนุนให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสุขสบาย มากกว่ามนุษย์ในยุคก่อนหน้า แต่ชีวิตภายใต้สิ่งอำนวยความสะดวกกลับไม่ช่วยให้มนุษย์มีความสุข ชีวิตมีแต่ความเร่งรีบแข่งขัน พาหนะในการเดินทาง เช่น รถยนต์ต้องเร็ว ต้องแรง คอมพิวเตอร์ที่ใช้ท่องอินเตอร์เน็ตต้องมีความเร็วสูง รองรับโปรแกรมใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์ทำอะไรได้ดังใจมากขึ้น เร็วขึ้น จนลืมหันมามองตนเอง ลืมใส่ใจต่อธรรมชาติของชีวิต ที่ต้องการการพักผ่อน ความสงบ และการดูแลฝ่ายจิตใจ  สิ่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์หลายคนในยุคทุนนิยมกำลังมองข้ามคุณค่า และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยึดผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง จนลืมความเป็นเพื่อนพี่น้องระหว่างมวลมนุษย์ด้วยกัน  นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 จนลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติหนี้ของประเทศกรีซที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายคนตั้งคำถามว่า ทุนนิยมมีต้นทุนที่สูงกว่าประโยชน์ที่เราได้รับหรือไม่ บางคนมองว่า ระบบทุนนิยมจะฉุดให้อารยธรรมมนุษย์ล่มสลาย เพราะเป็นระบบที่กระตุ้นให้บุคคลเห็นแก่ตัวมากขึ้น และบริโภคอย่างไม่ยั้งคิด จนธรรมชาติมิอาจรองรับความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ได้  เอ็ด เกลเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ทอบแมนศึกษารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า โลกนี้มีความล้มเหลว 2 ข้อ ข้อแรก ทุนนิยมเสรีไม่เคยแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ดี เพราะบริษัทเอกชนปกติมีแรงจูงใจที่จะให้บริการคนรวยมากกว่าคนจน ข้อสอง รัฐบาลส่วนใหญ่ในโลกล้มเหลว โดยเฉพาะในด้านการส่งมอบบริการ สาธารณสุข และการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน และแม้แต่รัฐบาลที่ค่อนข้างมีความสามารถ และตั้งใจดีของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก็ไม่มีความเฉลียวฉลาดและแรงจูงใจที่จะแก้ปัญหาที่ยากที่สุด (คินสลีย์, 2553)
     อย่างไรก็ดี เมื่อถึงจุดวิกฤติที่มากเพียงพอ มนุษย์ก็เริ่มหันมามองปัญหาที่เกิดขึ้น และเริ่มคิดหาทางออกเพื่อช่วยกันเยียวยาปัญหา หนึ่งในจำนวนนั้นคือ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานกรรมการบริษัทไมโครซอฟท์ มหาเศรษฐีหมื่นล้าน ที่ปัจจุบันผันตัวมาทุ่มเทให้กับการทำมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์  บิล เกตส์มีความเชื่อว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้ และอันที่จริงมันก็กำลังช่วยคนหลายพันล้านคนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาก็เห็นว่า ความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงชีวิตคนเฉพาะในกรณีที่ผู้นั้นมีกำลังซื้อ เฉพาะในดินแดนที่มีอุปสงค์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอุปสงค์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ (คินสลีย์, 2553) เขาจึงคิดค้นแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “ทุนนิยมสร้างสรรค์” (Creative Capitalism) ซึ่งจะเป็นระบบเศรษฐกิจ ที่แรงจูงใจจะสร้างทั้งกำไรและความเป็นที่ยอมรับ ผลักดันทั้งประโยชน์ส่วนตนและความห่วงใยผู้อื่น นั่นคือ ต้องสร้างทั้งกำไรและช่วยปรับปรุงชีวิตของผู้ด้อยโอกาส เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ใช้พลังแห่งความห่วงใยผู้อื่นมาร่วมกันช่วยเหลือสังคม เป็นการนำเอาพลังสมองที่ปรับปรุงชีวิตของคนรวย มาทุ่มแทให้กับการปรับปรุงชีวิตของทุกคนที่เหลือ (Gates, 2008)
     อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยและได้รับผลประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จะเริ่มตระหนักถึงการแบ่งปัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นธรรม ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า โลกของทุนนิยมจะเอื้อต่อการพัฒนาบุคคลอย่างเท่าเทียมกัน ตราบใดที่ยังมีเรื่องของผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจสำคัญ และผลประโยชน์นี้เองที่ทำให้มนุษย์หลงสู่กับดักของความอยากมีอยากได้ อยากเป็นเจ้าของ จนพร้อมที่จะละทิ้งอิสรภาพและคุณค่าอันดีงามของความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในชีวิตของบุคคลไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการเฝ้ารอคอยความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเพียงอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องเริ่มต้นจากความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนแปลงของบุคคลนั้น และลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ต่างไปจากเดิม  Epictetus นักปรัชญาชาวกรีกกล่าวว่า ไม่มีอิสระชนคนใดที่จะเป็นอิสระโดยไม่เป็นนายของตนเอง (Svoboda, 2008) คำถามสำคัญคือ เราจะเป็นนายของตนเองได้อย่างไร หรือเราจะเป็นอิสระจากความอยากเป็นเจ้าของที่ดึงดูดจิตใจของเราได้อย่างไร
        ในประเด็นนี้ เราพอจะเทียบเคียงกับคำพูดของพระเยซูเจ้าที่ตรัสว่า “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” (มัทธิว 6: 21) หากมองในมุมของจิตวิทยา คำพูดของพระเยซูเจ้าสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีคุณค่าเหนือตนเอง ธรรมชาติของมนุษย์ด้านนี้สนองตอบต่อระบบทุนนิยมเป็นอย่างดี จนทำให้มนุษย์หลายคนแสวงหาการครอบครองที่มากเกินความจำเป็น และลืมไปว่า จุดแห่งความสมดุลของความต้องการอยู่ที่ใด
ความสมดุลหรือความพอเพียงในชีวิตของเราเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราควรตระหนักและแสวงหาอย่างต่อเนื่อง หากเราต้องการมีชีวิตที่ไม่หลงสู่กระแสทุนนิยมและบริโภคนิยม ด้วยเหตุว่า ในสังคมกระแสหลักปัจจุบัน มนุษย์มองเห็นความสุขจากการครอบครองและการบริโภค มีการกินการใช้อย่างเกินพอดี อันเกิดจากการหลงคิดว่า นี่คือการให้รางวัลชีวิต การดูแลตนเองและคนที่เรารัก โดยไม่ทันสังเกตว่า ความสุขจากการซื้อหาสิ่งใหม่ๆ หายไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ทำให้เราต้องจับจ่ายอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาความสุขอันฉาบฉวยให้คงอยู่เนิ่นนานออกไปอีกสักระยะ  เมื่อกลับมาคิดใคร่ครวญถึงข้อสังเกตที่พบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน จึงน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราจะพึงถามตนเองถึงความคิดความรู้สึกที่เรามีต่อกระแสสังคมปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการแสวงหา ครอบครองและความสุขอันฉาบฉวย บางทีหากเราอยากจะมีชีวิตที่กลับคืนสู่ความสมดุล กลับคืนสู่ทางสายกลางระหว่างความขาดแคลนกับความมั่งคั่ง กลับคืนสู่ความสุขสบายที่ไม่ฟุ่มเฟือย เราคงต้องกลับมาถามตนเองเสียทีว่า เราพร้อมหรือยังที่จะจัดสมดุลให้กับชีวิตของเราเอง
         เพราฉะนั้น วิถีแห่งความพอเพียงจึงน่าจะเป็นคำตอบให้กับใครหลายๆ คน ที่อยากจะกลับมาทบทวนการดำเนินชีวิต และจัดสมดุลให้ชีวิตเกิดความสอดคล้องกลมกลืนมากขึ้น วิถีแห่งความพอเพียงเป็นวิถีที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นความสมถะแต่ไม่ตระหนี่ เน้นจิตใจมากกว่าวัตถุ เหตุว่า ความพอเพียงหรือความพอดี ไม่สุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่งจะช่วยให้เราคิด มอง พูดและกระทำในสิ่งที่เหมาะสมกับชีวิต  เมื่อพูดถึงวิถีแห่งความพอเพียง บุคคลหนึ่งที่ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ และเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทยในยุคปัจจุบัน นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้ตรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในปี พ.ศ.2541 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ พระองค์มีพระราชดำรัสบางตอน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช 2541 ดังนี้
“.... คนเราถ้า พอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด-อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ-มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ... พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง.... ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล...” (บัณฑิต เอื้ออาภรณ์, 2553)  หากพิจารณาจากพระราชดำรัสดังกล่าว เราจะพบว่า วิถีแห่งความพอเพียงมุ่งเน้นการสร้างความเจริญมั่นคง เป็นปรกติสุขร่วมกันของบุคคลในสังคม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ที่มากเกินพอดี จนก่อเกิดการเบียดเบียนผู้อื่น เน้นความคิดแบบองค์รวม ที่ทุกคน ทุกสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัญญา ที่จะนำไปสู่การคิดอย่างมีเหตุมีผล นั่นคือ รู้เท่าทันว่า ทำอะไรแล้วจะได้ผลอย่างไร หรือเหตุอะไรจะนำไปสู่ผลอะไร และการจะรู้เท่าทันถึงเหตุและผล เราจำเป็นต้องรู้จักตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของผลต่างๆ ที่ตามมา  คาร์ล โรเจอร์ (ค.ศ.1902-1985) นักจิตวิทยาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตบำบัดแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Person-Centered Therapy) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ ตัวตนของบุคคล (Self) ไว้ว่า มนุษย์ทุกคนมีตัวตน 3 แบบ (ศรีเรือน แก้วกังวาน, 2539) ได้แก่
1) ตนที่ตนมองเห็น (Self Concept)
2) ตนตามที่เป็นจริง (Real Self)
3) ตนตามอุดมคติ (Ideal Self)
ตนที่ตนมองเห็น คือ ภาพของตนที่บุคคลเห็นเองว่า ตนเองเป็นคนอย่างไร มีลักษณะเฉพาะตนอย่างไร ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือภาพที่คนอื่นเห็นก็เป็นได้ ส่วน ตนตามที่เป็นจริง คือ ลักษณะตัวตนตามความเป็นจริง ซึ่งบุคคลอาจจะมองเห็น หรือมองไม่เห็นตามความเป็นจริงก็ได้ สุดท้าย ตนตามอุดมคติ คือ ตัวตนที่บุคคลอยากมีอยากเป็น แต่ยังไม่มีไม่เป็นในสภาวะปัจจุบัน เช่น นางสาวเรยา เกลียดการเรียนหนังสือ จนมักจะหาข้ออ้างไม่ไปเรียนอยู่เนืองๆ แต่นึกฝันอยากจะเป็นแอร์โฮสเตส มีอาชีพที่สะดวกสบายและรายได้ดี เป็นต้น  หากพิจารณาตามทฤษฎีจิตบำบัดแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง มนุษย์จำนวนมากมีความไม่สอดคล้องกลมกลืนในความเป็นตัวตน 3 แบบคือ มีความขัดแย้งระหว่างตนที่เป็นจริง กับตนที่ตนมองเห็นและตนตามอุดมคติ ความสลับซับซ้อนของความขัดแย้งนี้ ทำให้กลไกทางจิตมีความซับซ้อน มีปม จนส่งผลให้บุคคลมีปัญหาทางอารมณ์ จิตใจและบุคลิกภาพ  เช่นเดียวกับอาร์เธอ โชเปนฮาวเออร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่กล่าวไว้ว่า “การต่อสู้ทุกอย่างเกิดจากความต้องการหรือความขาดแคลน เกิดจากความไม่พอใจกับสภาพของตน ผู้คนจึงทุกข์ทรมานตราบเท่าที่เขายังไม่ได้รับความพอใจ...” (ริการ์, 2552)
           ดังนั้น การที่เราจะเป็นนายของตนเอง หรือเป็นอิสระจากความอยากเป็นเจ้าของที่ดึงดูดจิตใจของเรานั้น เราจึงควรเริ่มต้นที่การทำความรู้จักตนเองเสียก่อนเป็นลำดับแรก รับรู้ถึงความอยากมีอยากได้ภายในจิตใจ และให้เวลากับคำถามที่เกิดขึ้นจากส่วนลึกภายใน “จริงๆ แล้ว ฉันอยากได้สิ่งใดจากชีวิต หรือจากพระผู้สร้าง”  ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น เข้าใจถึงความดีงาม ความปรารถนาที่แท้จริง ความไม่สมบูรณ์ครบครัน ความอ่อนแอ ความอยากมีอยากได้ อยากให้ผู้อื่นรักและยอมรับ อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ ความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้เราเห็นคุณค่าใหม่ๆ ในชีวิต จนเกิดความอยากจะปรับเปลี่ยนตนเอง อยากจะปล่อยวางจากการครอบครองที่เกินจำเป็น  การปล่อยวาง จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้บุคคลมีอิสระในชีวิต มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า “คนที่แบกของหนักเดินไปในโลกของความทุกข์ จะเบาสบายเพียงใด เมื่อได้วางของหนักไร้ประโยชน์ลงจากบ่า” การปล่อยวางเป็นการละทิ้งสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความเหน็ดเหนื่อย ความทุกข์ใจอันไม่หยุดหย่อน การปล่อยวางจึงไม่ใช่การวางทุกสิ่งโดยไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นการเลือกกระทำสิ่งต่างๆ อย่างสมดุลพอเพียง ตามที่เราพึงจะกระทำได้ ณ ปัจจุบันขณะ  เมื่อเรารู้จักตนเอง เรียนรู้การปล่อยวาง เราควรเรียนรู้ที่จะมีความรักความเมตตาต่อผู้อื่นด้วย เหตุว่า เราจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าผู้อื่นยังมีความทุกข์อยู่ อิสรภาพจะดีได้อย่างไร ถ้ามีเพียงตัวเราที่ได้ประโยชน์  ด้วยเหตุนี้ น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราควรหันกลับมามองตนเอง เพื่อค้นหาจุดสมดุลของชีวิต ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การแสวงหาผลประโยชน์ การละทิ้งค่านิยมอันดีงาม รวมถึงหลักคำสอนของศาสนา เพียงเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนมุ่งหวังเท่านั้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับผู้อื่น และจุดสมดุลของความพอเพียงของตนว่าอยู่ที่ใด  ถ้าเรารู้จักตนเองอย่างดีพอ ถอยห่างจากความคิดที่สับสนวกวนและนำเราไปสู่ความอยากมีอยากได้จนเกินพอดี เราจะเห็นธรรมชาติที่เป็นอิสระจากพันธนาการทางความคิดและวัตถุปรุงแต่งต่างๆ แล้วเราจะเห็นเป้าหมายที่แท้จริงในชีวิตของเรา
อิสระแห่งชีวิตเกิดขึ้นได้ถ้าเรารู้จักตน รู้จักพอ และเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนเป็นบุคคลแรก อิสรภาพแห่งชีวิตจึงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินเอื้อมสำหรับเรามนุษย์ในยุคทุนนิยม


บรรณนุกรม
คินสลีย์, ไมเคิล. บรรณาธิการ. (2553). ทุนนิยมสร้างสรรค์. แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล.
กรุงเทพมหานคร: โอเพ่นเวิลด์ส.
บัณฑิต เอิ้ออาภรณ์. บรรณาธิการ. (2553). ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลำดับที่ 1 พอเพียง โลกเย็น.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ริการ์, มาติเยอ. (2551). ความสุข. แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร:
สวนเงินมา.
ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2539). ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ รู้เขา รู้เรา. พิมพ์ครั้งที่ 4.
กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน.
Gates, B. A new approach to capitalism in the 21st century [Online] Available from:
April 21]
Human trafficking [Online] Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Human_trafficking
[2011, April 21]
Shah, A. Causes of poverty [Online] Available from: http://www.globalissues.org/issue/2/causes-
of-poverty[2011, April 21]
Snyder, C., & Lopez, S. (2007). Positive psychology. CA: Sage.
Svoboda, M. (2008). Traits of a healthy spirituality. 7th ed. New London: Twenty-Third.




[1] นักจิตวิทยาการปรึกษา, รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการ วิทยาลัยแสงธรรม, อาจารย์พิเศษด้านจิตวิทยาในสถาบันอุดมศึกษา และนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ (แผนกหญิง).